19 ก.ค. 2560
ถอดศาสตร์พระราชา “ในหลวง ร.9” “กฎหมายต้องไม่กดขี่ประชาชน”
การประชุมเวทีสาธารณะ ว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 3 หัวข้อ “หลักนิติธรรมกับการพัฒนาโดยศึกษาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9” จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thai-land Institute of Justice) หรือสถาบัน TIJ
ผ่านมุมมอง “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ “ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อน้อมนำหลักนิติธรรม “ในหลวงรัชกาลที่ 9” เป็นบทเรียนในการบังคับใช้กฎหมาย
ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย
“ดร.สุรเกียรติ์” ในฐานะนักการทูต มองว่า พระราชดำรัสที่สะท้อนหลักคิดเกี่ยวกับเรื่องหลักนิติธรรม ทรงสอดแทรกไว้กับพระราชกรณียกิจ เป็นเหตุผลสำคัญของความสำเร็จของโครงการพัฒนาต่าง ๆ เพราะหลักนิติธรรม คือ ธรรมะของกฎหมาย นิติธรรม คือ สิ่งที่กำกับกฎหมายไว้อีกชั้นหนึ่ง ในการแก้ปัญหาสังคม การพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้พระราชกรณียกิจของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศ ระหว่างประเทศ และเป็นที่ยอมรับขององค์การสหประชาชาติ
“ดร.สุรเกียรติ์” ได้น้อมนำพระราชดำริในหลายวาระเพื่อถอดรหัส-ตีความของความหมายศาสตร์พระราชาต่อหลักนิติธรรมในกฎหมายไทยในประเทศไทยควรจะเป็นอย่างไร
พระราชดำรัสพระราชทานแก่เนติบัณฑิตไทย เมื่อปี 2524 ว่า กฎหมายนั้น ไม่ใช่ตัวความยุติธรรม หากเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายชัดเพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน ก็ไม่ได้มีวงแคบเพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย แต่ต้องขยายไปถึงศีลธรรม จรรยา ตลอดจนเหตุผลและความจำเป็นด้วย
พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2512 เรื่องประชาชนที่ไม่รู้กฎหมาย กฎหมายต้องไม่เขียนไปกดหัวประชาชน
พระราชดำรัสเมื่อปี 2512 เรื่องความยืดหยุ่น ตอนหนึ่งว่า ในด้านการปกครองสำคัญที่ต้องใช้หลักของกฎหมาย ความยืดหยุ่น ต้องพิจารณาคำนี้ให้รอบคอบ ถ้าปกครองด้วยหลักที่แข็งแกร่งแล้ว ไม่ว่าจะสุจริตเท่าใด ทุกสิ่งทุกอย่างก็พังหมด จึงต้องมีความยืดหยุ่นในทางที่ดี ถ้าใช้ในทางที่ดี ก็ดี แต่ถ้าใช้ในทางยืดหยุ่น ตามใจตัว ก็อาจกลายเป็นทุจริต
พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานนิติศาสตร์ เรื่องความยุติธรรมที่อาจจะกลายเป็นต้นเหตุของความอยุติธรรม ลงท้ายก็ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล พระองค์ทรงเตือนสติไว้เสมอเรื่องความอะลุ่มอล่วย ไม่ใช่กดขี่กัน
“พระองค์ตรัสว่า นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ คำว่า พอสมควร เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าจะปกครองให้บ้านเมืองมีขื่อมีแป จะปฏิบัติตรงตามกฎหมายทั้งหมดไม่ได้ เพราะกฎหมายมีไว้เพื่อมีช่องโหว่ในการปฏิบัติ ไม่ใช่จะทำได้ตรงไปตรงมาตามตัวบท ต้องใช้การพินิจพิจารณาเสมอ”
พระราชดำรัสในปี 2514 เรื่องกฎหมายเป็นใหญ่ในบ้านเมือง กฎหมายที่จะเป็นใหญ่ในบ้านเมืองต้องเป็น “กฎหมายแท้” กฎหมายที่ข่มเหง รังแกประชาชน ไม่ใช่กฎหมายแท้
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
“ดร.ประสาร” มองแบบนักบริหารองค์กรระดับประเทศว่า ปัจจุบันนักวิชาการและผู้บริหารหลายประเทศยอมรับว่า หลักนิติธรรมเป็นรากฐานของความสงบและความเป็นธรรม (Pace and Justice) ไม่ใช่เป็นเพียง 1 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ของสหประชาชาติ แต่ยังเป็น “เครื่องมือ” เพื่อช่วยในการบรรลุเป้าหมายด้วย
มองย้อนไปในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติพบว่า มนุษย์พยายามหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกัน เช่น อารยธรรมตะวันตกที่เคยให้ “ผู้นำ” เป็น “ผู้กำหนดกติกา” หรือ Rule by Man สุดท้ายต้องเผชิญกับปัญหา
ต่อมาจึงกำหนดกฎหมายขึ้น มาเป็นกติกาสำหรับอยู่ร่วมกัน แต่ตัวกฎหมาย หรือ Rule by Law เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะ “ผู้สร้างกฎ” เป็นเพียง “ปุถุชนธรรมดา” ย่อมมีทั้งดี-ไม่ดี อาจมีอคติ หรือฉ้อฉล
“จึงเกิดการพัฒนาแนวคิดที่ว่า กฎหมายที่จะนำพาสังคมไปสู่สันติสุขนั้น กฎหมายต้องอยู่ภายใต้หลัก ความถูกต้อง หรือธรรมของกฎหมาย ซึ่งก็คือ หลักนิติธรรม หรือ Rule of Law”
“ดร.ประสาร” มองเปรียบเทียบกับอารยธรรมตะวันออก ซึ่งการปกครองได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนามาก ซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎกตอนหนึ่งว่า “วิสัยพระราชาต้องไม่ประมาทในราชกิจทั้งหลาย…ครองราชย์สมบัติโดยทศพิธราชธรรม” เป็นแนวทางการปกครองที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงยึดถือตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย
ในหลายวาระ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสถึงลักษณะกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมหลายประการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วยหลักที่สำคัญ 3 เรื่อง ดังนี้
เรื่องที่ 1 กฎหมายต้องใช้โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริง และบริบทของสังคม กฎหมายเป็นเครื่องมือ หรือมรรคา ที่จะนำสังคมไปสู่ความถูกต้องและความยุติธรรม อันนำไปสู่เป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์ความผาสุก ความเป็นปึกแผ่น ก้าวหน้า ของประชาชนและบ้านเมือง กฎหมายไม่ใช่ตัวความยุติธรรม หากแต่เป็นเพียงบทบัญญัติที่ตราไว้ การใช้ต้องมุ่งหมายเพื่อนำไปสู่ความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง
“กฎหมายจึงมีไว้ให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง ไม่ใช่มีไว้สำหรับบังคับประชาชน”
เรื่องที่ 2 กฎหมายต้องเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม และเศรษฐกิจ ทันสมัย ทรงมองกฎหมายอย่างมีพลวัต หรือมีชีวิต และเรื่องที่ 3
การตรากฎหมาย ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของคนในสังคม เพราะเป็นกติกาของการอยู่ร่วมกันของคนในชาติบ้านเมือง
“พระองค์ทรงนำหลักประชาพิจารณ์มาใช้ หากจะทำโครงการใดจะอธิบายถึงความจำเป็นและผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายทั้งสาธารณชน ประชาชน เจ้าหน้าที่ทุกระดับ มาแสดงความคิดเห็น”