5 พ.ค. 2561

ถึงเวลาไทยต้องลดปัญหานักโทษล้นเรือนจำ หลังพบสูงอันดับ 6 ของโลก

ระบบยุติธรรมที่ดีคือ ลดอัตราการกระทำผิดให้สังคมอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข แต่วันเวลาผ่านไปเราอาจหลงลืมจุดมุ่งหมายนี้ และกลับไปมุ่งเน้นการลากตัวคนทำผิดมาลงโทษ โดยลืมมองไปว่าแทนที่จะหลาบจำกลับกลายเป็นสร้างคนผิดมากขึ้นหรือร้ายแรงขึ้น

TIJ050561

ข้อมูลของ prisonstudies.org พบว่า ประเทศไทยมีผู้ต้องขังสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของทวีปเอเชีย โดยเป็นรองแค่จีนและอินเดียที่มีประชากรมากกว่าไทยหลายเท่า และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนเลยทีเดียว

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงศ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ผู้มีประสบการณ์คลุกคลีอยู่ในเส้นทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยฐานะอัยการ และปลัดกระทรวงยุติธรรม ทำการศึกษาอย่างจริงจัง ชี้ให้เห็นว่า การที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งในแง่จำนวนทั้งหมด (อันดับ 6 ของโลก) และจำนวนผู้ต้องขังต่อจำนวนประชากร (อันดับ 9 ที่จำนวน ผู้ต้องขัง 445 คนต่อประชากร 1 แสนคน โดยการศึกษาของ statista.com) อาจเกิดจากความไม่เอื้ออำนวยของระบบ เพราะมีกฎหมายที่มีโทษทางอาญาค่อนข้างเยอะ แม้กระทั่งการไม่คาดเข็มขัดนิรภัยก็มีโทษสูงสุดคือจำคุก

หากลองพิจารณาในรายละเอียดเรื่องจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ จะพบว่าเกือบร้อยละ 20.66 เป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีหรือระหว่างอุทธรณ์-ฎีกา และจำนวนราวร้อยละ 70 ที่เป็นนักโทษเด็ดขาดนั้น กว่าครึ่งเป็นผู้ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี โดยร้อยละ 70 เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

สิ่งหนึ่งที่พบคือ เมื่อคนถูกจับในคดีอาญา แม้ว่าจะไม่ใช่คดีที่ใช้ความรุนแรง แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนจำราว 5-10 ปี เมื่อออกมาจะมีแนวโน้มที่จะเป็นอาชญากรที่ใช้ความรุนแรง และ 2 ใน 3 จะกระทำผิดซ้ำและถูกส่งกลับไปยังเรือนจำอีกภายใน 3 ปี

บางคนถึงกับกล่าวว่า คุกเป็นโรงเรียนสอนอาชญากรสร้างเครือข่ายอาชญากรรม ไม่ว่าจะเข้าไปด้วยข้อหาอะไร มักจะออกมาด้วยความรู้ด้านอาชญากรรมมากขึ้นเสมอ

เมื่อโอบามาขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐจึงได้ทำการปฏิรูประบบราชทัณฑ์โดยให้ผู้ที่กระทำผิดบางประเภทไปทำงานเพื่อสังคมหรือเข้าบำบัดเพื่อให้สามารถกลับตัวเป็นคนดีและกลับเข้าสู่สังคมได้เหมือนคนปกติ เช่น ผู้ต้องคดียาเสพติด ซึ่งในกรณีคล้ายกันนี้ โปรตุเกสนับเป็นประเทศที่นำร่องและกลายเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการที่ใช้มาตรการทางปกครองส่งผู้ติดยาเสพติดไปบำบัดแทนการส่งเข้าเรือนจำ (มีตัวเลขหรือสถิติอะไรที่ช่วยทำให้ชัดเจนขึ้นไหมคะว่าประสบความสำเร็จอย่างไร)

วิธีนี้ นอกจากจะเป็นการลดจำนวนความแออัดของเรือนจำ ลดงบประมาณที่ใช้เพื่อบริหารเรือนจำมหาศาล เช่น ไทยต้องมีงบประมาณที่ใช้ในกรมราชทัณฑ์กว่า 12,141 ล้านบาทต่อปี แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ลดโอกาสที่ความผิดพลาดชั่วไม่กี่นาทีจะเปลี่ยนชีวิตคนเหล่านั้นให้กลายเป็นอาชญากรที่ร้ายแรงขึ้น จากการเข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้การกระทำผิดอื่นเพิ่มเติม การนำไปสู่วงจรอาชญากรที่สมบูรณ์ การสร้างบาดแผลในชีวิตจนต้องใช้ชีวิตในทางที่ผิดไปจนสุดทาง หรือถูกตราหน้าจนไร้หนทางที่จะประกอบอาชีพสุจริตเมื่อกลับออกมาสู่สังคม

TIJ0510561

ระบบยุติธรรมที่ดีคือ ลดอัตราการกระทำผิดให้สังคมอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข แต่วันเวลาผ่านไปเราอาจหลงลืมจุดมุ่งหมายนี้ และกลับไปมุ่งเน้นการลากตัวคนทำผิดมาลงโทษ โดยลืมมองไปว่าแทนที่จะหลาบจำกลับกลายเป็นสร้างคนผิดมากขึ้นหรือร้ายแรงขึ้น

ทางเลือกคือ ระบบอาจแสวงหามาตรการอื่นที่จะลดจำนวนคนในระบบการคุมขังในเรือนจำ ที่การชดเชยการกระทำผิดอย่างเหมาะสม โดยทุกขั้นตอนของระบบยุติธรรมทั้งตำรวจ อัยการ ศาล หน่วยงานที่ดูแลผู้กระทำผิดและทนายความ ต้องทำงานประสานกันเพื่อธำรงความยุติธรรมและหาทางออกร่วมกัน มีการบูรณาการในการทำงานมากขึ้น ทั้งยังต้องมีความเชื่อถือในหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องว่าจะปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อตรงต่อวิชาชีพควบคู่กับการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ อย่างเช่น ในประเทศญี่ปุ่น ผู้ที่จบเนติบัณฑิตจะต้องฝึกงานอีกราว 2 ปี โดยเวียนไปทำงานตามหน้าที่ต่าง ๆ ในระบบยุติธรรมเพื่อให้เข้าใจในการทำงานของแต่ละหน่วยงานมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ หนึ่งในวิธีลดจำนวนคนเข้าสู่เรือนจำก็คือ ในบางคดีที่เหมาะสมจะมีการส่งไปคุมประพฤติก่อน หากผลออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจก็อาจจะไม่มีการส่งฟ้อง

นอกจากหน่วยงานในระบบยุติธรรมข้างต้น ก็อาจมีตัวแทนประชาชนเข้ามาเพิ่มเป็นปัจจัยในกระบวนการยุติธรรมด้วย ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาจะมีระบบลูกขุนที่เข้ามาช่วยในคดีที่ร้ายแรง ยุโรปมีผู้พิพากษาสมทบ ญี่ปุ่นเริ่มมีการนำประชาชนเข้ามามีส่วนในระบบลูกขุนและผู้พิพากษาสมทบ ส่วนไทยนั้นได้เริ่มมีการนำผู้พิพากษาสมทบเข้ามาสู่ระบบ ทำให้มีความรู้และความเข้าใจเฉพาะด้านมากขึ้น

นอกจากนี้ก็ยังมีองค์กรช่วยเหลือประชาชนต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างเช่นบ้านกาญจนาที่ดูแลเยาวชนที่กระทำพลาดผิดไป แต่หน่วยที่สำคัญที่สุดรายหนึ่งคือชุมชน ที่ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่เพียงฝ่ายเดียว หากชุมชนมีความเข้มแข็ง ช่วยสอดส่องดูแลและรวมไปถึงการรับผู้หลงผิดกลับสู่สังคม ก็จะสามารถป้องกันผู้หลงผิดตลอดจนช่วยเหลือผู้ที่พลาดพลั้งทำผิดให้สามารถปรับตัวและกลับมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพ

ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า การที่จะสร้างสังคมที่สงบสุขนั้น ไม่เพียงแต่ต้องปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องเท่านั้น แต่ทุกฝ่ายทุกคนสามารถเข้าไปมีส่วนได้ ด้วยการช่วยลดจำนวนผู้กระทำผิดซ้ำ และกระตุ้นให้ผู้ที่ก้าวพลาดสามารถกลับมาเป็นคนดีของสังคมได้

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำได้ทันทีโดยตัวเราเอง เริ่มต้นจากการปรับที่ทัศนคติเรา อย่าผลักให้คนผิดพลั้งก้าวไปติดอยู่ในมุมมืด ช่วยกันดูแล ใส่ใจ ป้องกันอย่าให้คนหลงผิด ในขณะเดียวกันก็ต้องให้กำลังใจ ให้โอกาสให้คนที่ก้าวพลาดเหล่านั้นกลับมาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคม ถอดประเทศไทยออกจากลิสต์การมีผู้ต้องขังอันดับต้นๆ ของโลกอย่างจริงจังและยั่งยืน .

TIJ0520561