4 ส.ค. 2561

TIJ Public Forum ว่าด้วยหลักนิติธรรม (4) วัฒนธรรมฟื้นฟูผู้ต้องขังสู่สังคม “คืนคุณค่าความเป็นมนุษย์” มองผู้ต้องขังเป็น “คน” เท่ากัน

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการเสวนาเรื่อง “Culture of Social Reintegration in Thailand” นำเสนอมุมมองการเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมเพื่อฟื้นฟูผู้ต้องขังที่พ้นเรือนจำกลับคืนสู่สังคม

นางสาวชลธิช ชื่นอุระ หัวหน้ากลุ่มโครงการ IBR สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีผู้ต้องขังต่อจำนวนประชากรสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยนับตั้งแต่ปี 1997 สูงขึ้นเฉลี่ย 4% ต่อปี ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังหญิง 13% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ 7% โดยผู้ต้องขังส่วนใหญ่มาจากคดียาเสพติดถึง 75%

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ก่อนที่จะมาอยู่ในเรือนจำ พวกเขามีการศึกษาน้อย มีรายได้น้อย ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง ผู้ต้องขังหญิงส่วนใหญ่มีรายได้เพียง 11%comma%000 บาทต่อเดือน ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เพราะมีภาระต้องเลี้ยงดูคนในครอบครัวประมาณ 3 คนขึ้นไป หลายคนจึงทำความผิดเพราะต้องการหาเงินมาดูแลครอบครัว

“ผู้ต้องขังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ได้รับผลกระทบจากประเด็นต่างๆ เหล่านี้ เช่น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การเข้าไม่ถึงการศึกษา ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ฯลฯ ดังนั้น หากจะสร้างสังคมที่ให้ทุกคนมีที่ยืน ที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องดูแลคนกลุ่มนี้ด้วย” นางสาวชลธิชกล่าว

นางสาวชลธิชกล่าวว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่ากระบวนการฟื้นฟูผู้ต้องขังหลังจากนี้ เรือนจำจะทำหน้าที่เหมือนเป็นโรงเรียนสอนการพัฒนาทักษะชีวิต เปลี่ยนคนให้เป็นคนดีมากขึ้น เพื่อให้ออกไปประกอบอาชีพที่สุจริต สร้างความสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่เรือนจำกับผู้ต้องขังในลักษณะของครูกับศิษย์ มากกว่าการเป็นผู้คุมกับผู้ถูกคุม ซึ่งน่าจะสามารถร่วมกันออกแบบให้เกิดขึ้นได้

นางสาวเข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดงและนักรณรงค์สิ่งแวดล้อม เล่าว่า จากการไปเยี่ยมเรือนจำหลายแห่งในประเทศไทยและพูดคุยกับทั้งผู้ต้องขัง อดีตผู้ต้องขัง ผู้คุม รวมทั้งผู้ที่เคยทำงานร่วมกับอดีตผู้ต้องขัง ได้พบมุมมองที่หลากหลาย เช่น ผู้ต้องขังรายหนึ่งเล่าว่าเวลานอนจะไม่สามารถลุกไปไหนได้ เพราะที่นอนจะหายไป หรือมุมมองที่เขารู้สึกไม่มีคุณค่า มีชีวิตอยู่ไปวันๆ ไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นคน

ส่วนมุมมองผู้ที่ออกจากคุกมาแล้วเขาเล่าว่า มักจะมีตะขอที่เกี่ยวให้เขากลับไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมๆ หรือกลุ่มคนเดิมๆ เช่น บางคนกลับไปอยู่ในครอบครัวที่ขายยาเสพติดกันทั้งบ้าน ทำให้ต้องกลับไปอยู่ในวงจรเดิมๆ หรือบางคนสะท้อนว่ามีปัญหาเรื่อการสมัครเข้าทำงาน เพราะถูกสังคมตีตราว่าเคยเป็นคนผ่านคุกมาก่อน ส่งผลให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถกลบคืนสู่สังคมได้อย่างแท้จริง

ขณะที่ผู้คุมเรือนจำให้มุมมองในหลายประเด็น เช่น จำนวนผู้คุมมีน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ต้องขัง โดยผู้คุมหนึ่งคนต้องคุมนักโทษประมาณ 200-300 คน ความรับผิดชอบของผู้คุมที่เกินขอบเขต หรือเกินความถนัดที่เขาจะได้ทำ รวมถึงปัญหาด้านงบประมาณ

อย่างไรก็ดี ปัญหาเหล่านี้น่าจะสามารถแก้ไขในเบื้องต้นได้ คือ การทำให้ผู้ต้องขังมีความพร้อมด้านทักษะชีวิตและอาชีพ รวมทั้งมีความพร้อมด้านจิตใจที่จะกลับคืนสู่สังคม โดยผ่านการสื่อสารที่สร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคมทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคส่วนอื่นๆ ที่พร้อมจะเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคมแบบเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันจริงๆ และมีคุณค่าในชีวิต

ดร.อายุตม์ สินธพพันธุ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ต้องขังรวมกว่า 3.5 แสนคน จนเกิดปัญหาความแออัดในเรือนจำ ทำให้การแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคมมีข้อจำกัด ไม่นับรวมข้อจำกัดเรื่องการจัดสรรงบประมาณในการดูแลฟื้นฟูผู้ต้องขังที่มีจำนวนไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเรือนจำพยายามสร้างบทบาทการ “ควบคุม” และ “แก้ไข” ไปพร้อมๆ กัน โดยสร้างความสมดุลระหว่างการควบคุมไม่ให้ผู้ต้องขังหลบหนี กับการแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ต้องขังให้สำนึกผิดกลับตัวเป็นคนดี แม้จะเป็นเรื่องค่อนข้างยากพอสมควร แต่ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด

นางพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ตัวแทนมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมีโอกาสเข้าไปอบรมการเป็นนักชงกาแฟ หรือบาริสตา ในเรือนจำ จ.เชียงราย โดยมีผู้ต้องขังให้ความสนใจอย่างมาก บางคนอาจชงกาแฟไม่เก่ง แต่มีความเป็นนักบริหารจัดการที่ดี  ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าอย่างน้อยก็ทำให้ผู้ต้องขังค้นพบตัวเองว่าอยากทำอะไร ทำให้โครงการนำร่องนี้ประสบความสำเร็จ และในอนาคตหากสามารถผลิตคนที่มีทักษะได้มาตรฐานออกสู่ตลาดปกติได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

นางพิมพรรณบอกว่า ความสำเร็จของโครงการส่วนหนึ่งมาจากเจ้าหน้าที่ดอยตุงซึ่งมีพื้นฐานเป็นนักพัฒนา มองผู้ต้องขังเป็น “คน” เท่ากัน เพราะสมเด็จย่า (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) เคยสอนและให้เป็นแนวทางกับพวกเราเสมอว่า คนติดยาเสพติดเขาเป็นคนหรือเปล่า ถ้าเขาเป็นคน แล้วเราช่วยได้ ควรทำ นี่คือสิ่งที่อยู่ในดีเอ็นเอของเจ้าหน้าที่ดอยตุง

“มีเจ้าหน้าที่ที่ทำโครงการนี้คนหนึ่งบอกว่า โครงการนี้เปลี่ยนตัวเขาด้วยซ้ำ เพราะเขาเห็นว่าผู้ต้องขังก็เป็นคนเหมือนกัน และเมื่อเขาและทีมงานได้ไปอบรมบาริสตา เห็นผู้ต้องขังทำได้ ทำเป็น แล้วเข้ามากอด มาขอบคุณเขา เขามองว่าตัวเขาเป็นคนได้มากกว่าผู้ต้องขังเสียอีก”

ดร.กฤษฎา บุญชัย หน่วยปฏิบัติการวิจัยสังคมชาวนาร่วมสมัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าคนจำนวนมากที่ติดคุกเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” คือความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การด้อยโอกาส การไม่มีทางเลือกในชีวิต ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ แต่คำถามสำคัญคือสังคมมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่กับความเหลื่อมล้ำเหล่านี้

ทั้งนี้ ได้พยายามเข้าไปสำรวจชีวิตผู้ต้องขังหลายรูปแบบ ซึ่งสิ่งที่พบมากที่สุดคือเขารู้สึกไม่มีทุนทางสังคมและเศรษฐกิจเหลืออยู่เลย ไม่มีความภาคภูมิใจหรือความหวังในชีวิต ส่งผลให้ถูกตะขอเกี่ยวกลับไปที่เดิม รวมทั้งปัจจัยสำคัญคือการถูกกีดกันจากสังคม แม้แต่ครอบครัว ชุมชน หรือสถานที่ประกอบการต่างๆ

ดังนั้น Social Reintegration ต้องพยายามคิดจากการเปลี่ยนวัฒนธรรมกลับคืนสู่สังคม จากการผลักไสหรือปิดกั้น เป็นการ “คืนคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม” ให้กับเขา ยอมรับความเป็นมนุษย์  ให้โอกาสผู้ต้องขังในการเดินไปพร้อมกับเรา โดยสร้างระบบที่เกื้อหนุนวัฒนธรรมนี้

“เราอาจจะต้องสร้างต้นแบบใหม่ๆ สร้างกระบวนการสื่อสารใหม่ๆ สร้างระบบสนับสนุนใหม่ๆ รวมทั้งปรับกฎหมาย กติกา  ถ้าปัญหามันเป็นวงจรทั้งหมด เราอาจจะต้องคิดว่าจะลดความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้นได้ยังไง ให้คนเท่าเทียมกันมีมากขึ้นยังไง โดยเฉพาะกับคนตัวเล็กตัวน้อย” ดร.กฤษฎากล่าว