6 ส.ค. 2561
TIJ Public Forum ว่าด้วยหลักนิติธรรม (3): การส่งเสริม “culture of lawfulness ”
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการบรรยายเรื่อง “Fostering Culture of Lawfulness: A Way Forward for Thailand” นำเสนอมุมมองในประเด็นคนไทยกับวัฒนธรรมการเคารพกติกา
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อธีนา เอเชีย จำกัด เปิดเผยว่าจากการจัดอันดับของ World Justice Project (WJP) เรื่องหลักนิติธรรม หรือ rule of law พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 71 จาก 113 ประเทศทั่วโลก โดยมีสองหมวดที่ไทยได้คะแนนค่อนข้างต่ำ คือ 1. การบังคับใช้และเคารพกฎหมาย 2. ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยทุกคน จึงมีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับหลักนิติธรรมของประเทศไทย
นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ในต่างประเทศ โดยเฉพาะการประชุมนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม มักพูดถึงคำว่า culture of lawfulness หรือวัฒนธรรมการเคารพกติกา ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเทศเริ่มนำวัฒนธรรมดังกล่าวไปใช้และประสบความสำเร็จอย่างมาก เช่น ประเทศญี่ปุ่น อิตาลี เม็กซิโก แต่ยังไม่มีสูตรสำเร็จว่าประเทศใดนำ culture of lawfulness ไปใช้กับ rule of law ได้ประสบความสำเร็จมากที่สุด เพราะคำตอบที่ได้ไม่มีหลักตายตัว ทุกอย่างสามารถปรับได้ อยู่ที่คน อยู่ที่วัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ
สำหรับประเทศไทย ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้เป็นสังคมแห่งการแข่งขันและเร่งรีบ แต่ทุกครั้งที่มีปัญหา ความสามัคคีคือสิ่งหนึ่งที่เป็นทางออกให้กับประเทศไทย แต่อีกด้านหนึ่ง สังคมไทยก็เป็นสังคมผลักปัญหาให้กับคนอื่น หรือ “สังคมแห่งการโทษกันไปโทษกันมา” จึงทำให้นิติธรรมของประเทศไทยยังไม่บรรลุผลสำเร็จ
“เพราะเรามัวแต่โทษกันไปโทษกันมาหรือเปล่า มัวแต่โทษว่าเป็นเรื่องของนักกฎหมาย โทษนักการเมือง โทษสื่อมวลชน แต่มันใช่หรือเปล่า ฉะนั้น ถึงเวลาหรือยังที่คนไทยต้องหยุดโทษกันไปโทษกันมา แล้วมาร่วมกันคิดว่าต้นตอของปัญหาคืออะไร เหตุผลอะไรที่ทำให้นิติธรรมของประเทศไทยถึงยังไม่ประสบความสำเร็จ” นายพุทธิพงษ์กล่าว
นายพุทธิพงษ์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในสังคมไทยมีภาพชินตาของคนไม่ทำตามกติกาทุกวัน เช่น ขี่มอเตอร์ไซค์ย้อนศร ฝ่าฝืนสัญญาณจราจร ขายของบนทางเท้าหรือในที่ห้ามขาย ฯลฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิถีชีวิตของคนจำนวนหนึ่งยังไม่นำไปสู่กระบวนการตอบสนองการออกกฎหมายนั้นๆ ได้ ดังนั้น วัฒนธรรมและการออกกฎหมายมีส่วนเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน ซึ่งการจะทำให้กฎหมายนั้นศักดิ์สิทธิ์หรือสำเร็จได้หรือไม่นั้น วัฒนธรรมเป็นส่วนที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก
นางสาวเอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการ เทใจดอมคอม กล่าวยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นว่า เป็นหนึ่งในประเทศที่คนเคารพกติกาในสังคมได้ดี เป็นเพราะเขาเชื่อในกฎเกณฑ์และเคารพกติกาเหมือนกับจรรยาบรรณของซามูไรในอดีต ที่รักในเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง มีจิตสำนึกรับผิดชอบ มีความละอายต่อสิ่งที่ทำ มีความเกรงกลัวต่อบาป เป็นรากฐานสำคัญของคนญี่ปุ่น โดยปลูกฝังวัฒนธรรมและการปฏิบัติเหล่านี้มาตั้งแต่วัยเด็กผ่านสถาบันครอบครัวและสถานศึกษา ทั้งยังมีระบบที่ดีที่เอื้อให้คนทำตามกฎระเบียบมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีประเทศเกาหลีใต้และสิงคโปร์ จากที่เคยเป็นประเทศยากจน ตกเป็นเมืองขึ้น เจอภัยสงคราม ไม่มีความหวัง เชื่อในโชคชะตา กลายมาเป็นประเทศที่สร้างวัฒนธรรมใหม่ในการพาตนเองออกไปจากจุดที่เคยเป็น โดยออกกฎหมายที่สร้างความเป็นธรรม จัดการเรื่องคอร์รัปชัน มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง แต่มากกว่านั้นทั้งสองประเทศต่างมีผู้นำที่มีภาวะผู้นำสูง ในการตั้งเป้าหมายให้คนในประเทศทำตามกฎเกณฑ์ เชื่อในกฎหมาย มองส่วนรวมมากกว่าส่วนตน สร้างประเทศไปสู่จุดที่ดีกว่าเดิม
“สิ่งที่ทำให้สิงคโปร์และเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จมากในการหล่อหลอมวัฒนธรรมใหม่ให้ทุกคนเชื่อเรื่องกฎหมาย เชื่อการเคารพกฎหมาย เพราะเขาเชื่อว่าสามารถพัฒนาตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อโชคชะตา ถ้าทุกคน work hard ถ้าทุกคนปฏิบัติตามกฎหมาย อยู่ใต้กฎเดียวกัน และต่อสู้ ซึ่งผลที่ได้มันประจักษ์ให้เห็นในช่วงชีวิตคนคนหนึ่งเลย”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การสร้างวัฒนธรรมการเคารพกติกาจำเป็นต้องมีการศึกษา มีความสามารถในการรู้คิด มีสติ และมีความจริงที่สามารถรู้หรือประเมินได้ เพราะตราบใดที่คนสามารถแชร์ความจริงร่วมกัน กำหนดวิถีของสังคมร่วมกัน รู้ว่าใครจะทำอะไร และตนเองควรจะทำอะไร ก็จะทำให้เกิด culture of lawfulness
“ยกตัวอย่างเวลาท่านไปเข้าห้องน้ำ แล้วเห็นสังคมที่ต่อคิวกันหมด สังคมนี้เท่าเทียมกัน และท่านแซงคิวไม่ได้ ดังนั้น ถ้า culture of lawfulness เวิร์ก ไม่ใช่แค่ห้องน้ำครับ ระบบกฎหมายก็เหมือนกัน” ดร.ธานีกล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กฎหมายกับวัฒนธรรมมีความสัมพันธ์กัน โดยประเทศไทยมีกฎหมายที่ดีจำนวนมาก แต่จำนวนไม่น้อยก็ยังไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมของประชาชน ทำให้ไม่สามารถใช้บังคับได้ เพราะไม่ได้ออกแบบตลอดสายว่ามีกฎหมายออกมาแล้วใครต้องทำอย่างไร คนที่ได้รับผลกระทบจะต้องปรับตัวอย่างไร
เพราะฉะนั้น กฎหมายหลายเรื่องจึงใช้บังคับไม่ได้ คนไม่เคารพกติกา เพราะทำไม่ได้จริง ไม่นับรวมกฎหมายที่เปิดช่องให้มีการต่อรองได้ ดังนั้น ควรออกแบบกฎหมายโดยระบุด้วยว่าใครต้องทำอะไร และหากไม่ทำตามกฎหมายจะเป็นอย่างไร
ดร.ปารีณาชี้ว่า ปัจจัยสำคัญในการสร้าง culture of lawfulness คือ 1. คนในสังคมต้องตระหนักในคุณค่าบางอย่างร่วมกัน หรือ “share common value” มีคุณค่าของสังคมในการอยู่ร่วมกัน เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
2. มีการกระทำบางอย่างร่วมกันของทุกคน ต้องเป็น “collective behaviour” ขณะเดียวกัน คนในสังคมต้องไม่แสวงหาอภิสิทธิ์หรือสิทธิพิเศษที่จะไม่ทำตามกฎกติกาที่ตั้งขึ้นมาร่วมกัน และ 3. มีระบบการควบคุมทางสังคม หรือ “social control system” ที่เข้มแข็ง
“ถ้าเรามี share common values มี collective behaviour และมี social control system ก็จะทำให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกาได้ แต่ต้องมีส่วนร่วมสร้างจากทุกคนที่เกี่ยวข้อง และต้อง empower ในการมีพลังที่จะทำ นอกจากนั้นต้องมีเครื่องมือโดยให้การศึกษา ใช้โซเชียลมีเดียให้เกิดประโยชน์ ต้องมีผู้นำทำเป็นตัวอย่าง”
ทั้งนี้ การสร้างวัฒนธรรมการเคารพกติกา สิ่งแรกที่ต้องสร้างไม่ใช่การออกกฎหมาย แต่ต้องรณรงค์ให้เกิดความตระหนัก มีจิตสำนึก เช่น การลดขยะพลาสติก สิ่งแรกที่ต้องสร้างคือความตระหนัก คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้อื่น และประโยชน์สาธารณะ
“ตอนนี้สังคมไทยเรียกร้องสิทธิของบุคคล แต่เรายังขาดการทำให้ตัวเราเองรู้จักเคารพสิทธิของคนอื่น และที่สำคัญซึ่งสิงคโปร์ เกาหลี หรือญี่ปุ่น เขาปลูกฝังให้คนของเขาก็คือเรื่องสิทธิของสังคม สิทธิสาธารณะ และสิทธิของคนอื่น เราจะต้องคำนึงถึงคนอื่น ก่อนที่จะคำนึงถึงตัวเองด้วยซ้ำ”
ดร.ปารีณากล่าวสรุปว่า “วัฒนธรรมแห่งการเคารพกฎหมายและการเคารพกติกาสามารถสร้างได้และเกิดขึ้นได้ แต่ต้องยึดมั่นในคุณค่าของการปฏิบัติตามกฎหมาย ต้องรู้จักปฏิเสธที่จะไม่ทำเรื่องละเมิดกฎหมาย และจะต้องไม่ทนต่อการละเมิดกฎหมาย ซึ่งสามารถเริ่มได้จากคนทุกคน อย่าบอกให้คนอื่นทำ แต่เราไม่ทำ ที่สำคัญคือหลักนิติธรรมกับวัฒนธรรมการเคารพกติกาไม่ใช่แค่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน แต่สองสิ่งนี้ยังสอดคล้องกันและแยกจากกันไม่ได้”