คู่มือ 4E: วิธีสื่อสารข้ามรุ่น

2564

11 ส.ค. 2564

คู่มือ 4E: วิธีสื่อสารข้ามรุ่นคู่มือสำหรับการสื่อสารกับคนต่างวัย ที่อาจจะมีมุมมองขัดแย้งกัน โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจที่มาที่ไปของโลกทัศน์ที่แตกต่างกัน

หัวใจของการใช้ “คู่มือ”หรือ “ไกด์บุ๊ค” คุยกับคนต่างรุ่นนี้ไม่ใช่การ “หาความต่าง” ระหว่างรุ่น แต่เป็นการปรับ “จุดเริ่มต้น” ของการสื่อสารกันด้วยการยอมรับและเข้าใจว่า รุ่นเราและรุ่นเขาอาจมีประสบการณ์ชีวิตที่ต่างกันและจากตรงนี้จะสามารถใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการหาจุดร่วมกันได้ เฉกเช่นกับการมีเพื่อนชาวต่างชาติที่ในตอนแรกต้องเปิดใจว่าเขาอาจมีมุมมองต่อโลกที่แตกต่างจากเรา แล้วเราจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าเรามีความคล้ายกันหรือมีจุดร่วมกันมากกว่าที่เราคิด วิธีนี้ต่างกันกับวิธีที่เริ่มจากการสมมติว่า “เราต้องเหมือนกัน” ที่อาจทำให้เราเผลอเรอเอามุมมองของตนเองเป็นที่ตั้ง และทำให้บางครั้งพยายามไปบีบบังคับให้คนอื่นที่เรากำลังสื่อสารด้วยให้คิดเหมือนเราโดยไม่รู้ตัว จนกลายเป็นต้นตอของความขัดแย้ง 

การสื่อสารระหว่างคนต่างรุ่นจึงควรคำนึงถึงหลักการ “4 E” ดังนี้

1.1 เราอาจโตขึ้นมาบนโลกคนละใบ สิ่งแรกที่ต้องเปิดใจรับคือ การที่คนไทยแต่ละรุ่นเกิดมาในโลกที่ต่างกันมาก แม้จะเติบโตและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยเหมือนกัน พูดภาษาเดียวกัน แต่สภาวะเศรษฐกิจ การเมือง สภาพสังคม และเทคโนโลยี มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมาโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าแต่ก่อนมาก คนรุ่นก่อนควรเริ่มด้วยการยอมรับว่า เราอาจไม่เข้าใจความลำบากและความท้าทายที่คนรุ่นใหม่ต้องเจอ เช่นเดียวกับที่คนรุ่นใหม่เองก็ไม่เข้าใจปัญหาหลายอย่างที่คนรุ่นก่อนต้องเผชิญในอดีตที่ผ่านมา และการมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันนั้นอาจมีผลต่อมุมมองต่อโลก (World view) ที่ต่างกัน

จากตารางทั้งสามนี้จะเห็นได้ว่า ในด้านเศรษฐกิจและการเมือง คนไทยอายุต่ำกว่า 30 ปีเริ่มเรียนจบและเข้าตลาดแรงงานตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา จะต้องเผชิญกับยุคที่เศรษฐกิจโตช้า เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 3-4%  เงินเดือนไม่ค่อยขยับ และเป็นช่วงที่การเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลเป็นไปอย่างรวดเร็ว (Digital disruption) ซึ่งเป็นเหตุให้ทักษะที่เรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเริ่มไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน งานดี ๆ จึงหาได้ยากยิ่งขึ้น อนาคตต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นนี้เติบโตมากับรัฐบาลเดียวตลอด นักเรียนมหาวิทยาลัยในปัจจุบันใช้เวลา 40% ของชีวิตอยู่กับรัฐบาลปัจจุบัน ในความรู้สึกของคนรุ่นใหม่จึงไม่เคยได้สัมผัสประชาธิปไตยที่แท้จริงและเกิดความเชื่อว่าความลำบากทางเศรษฐกิจนั้นมาควบคู่กับการไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริงในประเทศไทยซึ่งประสบการณ์ที่ว่านี้แตกต่างจากสิ่งที่คนอายุ 50 กว่าปีขึ้นไปได้เผชิญอย่างสิ้นเชิง เป็นกลุ่มบุคคลที่มีโอกาสทำงานในยุคที่เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย 7-8% ต่อปี จากการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม (Industrialization) และการเติบโตของเมือง (Urbanization) ในช่วงปี ค.ศ. 1980-1990 ก่อนช่วงวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเกือบจะได้เป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย สื่อที่มีในช่วงนั้นเป็นสื่อช่องทางปกติ ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย แม้การเมืองยุคนั้นส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้อยู่ในระบบประชาธิปไตยเต็มที่เช่นกัน แต่ในยุคที่เศรษฐกิจโตอย่างเข้มแข็ง ทำให้คนอาจไม่รู้สึกว่าระบบการปกครองเป็นอุปสรรคสำคัญต่อโอกาสทางเศรษฐกิจและธุรกิจ จึงเกิดเป็นความเชื่อที่ว่าเรื่องการเมืองกับเศรษฐกิจสามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งแตกต่างจากมุมมองคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน

1.2 คนรุ่นใหม่แต่ละรุ่นก็แตกต่างกัน การสื่อสารระหว่างคนต่างรุ่นต้องเข้าใจว่าคนรุ่นเดียวกันมีความเหมือนและแตกต่างกัน การเห็นความต่างในความเหมือนเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเข้าอกเข้าใจ เช่น ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนรุ่น First Jobber หรือ อายุประมาณ 20 ปี ที่อาจจะอยู่ในช่วงทำงานสร้างเนื้อสร้างตัว มีความแตกต่างกับรุ่นนักเรียน (อายุประมาณ 15-22 ปี) พอสมควร ความลำบากของรุ่น First Jobber มักจะผูกโยงใกล้ชิดกับปัญหาเศรษฐกิจ อาจเป็นเพราะกำลังอยู่ในช่วงสร้างเนื้อสร้างตัว แต่กลับต้องเผชิญกับยุคที่เศรษฐกิจโตช้า ความเหลื่อมล้ำสูง การเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัลมีความเข้มข้น ตลาดงานเปลี่ยนแปลง ในขณะที่คนรุ่นนักเรียนจะมีรากฐานมาจากประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองทั้งระบบมากกว่าเรื่องประเด็นปากท้องโดยตรง ซึ่งอาจสะท้อนการที่เขาเติบโตมาโดยยังไม่เคยได้สัมผัสทั้งข้อดีและข้อเสียของระบอบประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกันเป็นกลุ่มที่เข้าถึงข้อมูลอย่างมหาศาลจากโลกภายนอกผ่านช่องทางออนไลน์ที่อาจแตกต่างจากที่เรียนในโรงเรียนอย่างมหาศาล

1.3 คนรุ่นเดียวกันก็มีความหลากหลาย คนรุ่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง หรือรุ่นเล็กก็มีความแตกต่างหลากหลายด้วยอย่างที่ได้วิเคราะห์ไว้ในตอนต้น ซึ่งอาจมีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่นลักษณะการเลี้ยงดู ระบบการศึกษา สถานะทางเศรษฐกิจ อาชีพ ฯลฯ  การเหมารวมว่าคนในรุ่นต้องคิดแบบเดียวกันจะเป็นการขยายความขัดแย้งแบ่งแยกให้แตกต่างมากยิ่งขึ้น

2.1 เพื่อนคู่คิดต่างวัย (Equal Partner) คนทุกรุ่นคงไม่ปฏิเสธว่าสนับสนุนความเท่าเทียมกัน แต่ความเท่าเทียมกันในความหมายของคนต่างรุ่นอาจมีความแตกต่างกัน เช่น ในมิติของการทำงานร่วมกันก็ดี การพูดคุยกันในโต๊ะอาหารก็ดี ในห้องประชุมก็ดี คนรุ่นใหม่จะไม่ชอบการแบ่งชนชั้นลำดับอาวุโส (Hierarchy) ที่ผู้ใหญ่มักชอบบอกว่าคนรุ่นเด็กไม่มีประสบการณ์ ทำให้เสียงที่เขาพูดออกไปไม่มีใครได้ยิน สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการคือความเป็น Equal partners ในขณะที่คนรุ่นก่อนจะรู้สึกว่า การมีลำดับอาวุโสไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะคนรุ่นนี้เติบโตมาในยุคที่มีลำดับชั้นลำดับอาวุโส คนรุ่นก่อนกับคนรุ่นใหม่จึงมีมุมมองในเรื่องนี้แตกต่างกันมาก ดังนั้น หากจะสื่อสารกัน คนรุ่นก่อนต้องระมัดระวังเรื่องของการแบ่งลำดับอาวุโส เพราะว่าคนรุ่นใหม่จะค่อนข้างอ่อนไหว ถ้าคิดว่าเขาขาดความรู้ด้านนี้หรือประสบการณ์ด้านนี้จริงๆ ให้สื่อสารกับเขาเหมือนที่พูดกับผู้ใหญ่อีกคนหนึ่งที่ขาดความรู้ด้านนั้นๆ โดยไม่เอาความอาวุโสไปกดทับ คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่อยากให้ความคิดของตนเองได้รับการฟังและพิจารณาเทียบเท่ากับเป็นความเห็นของผู้ใหญ่อีกคนหนึ่ง เสมือนเป็นเพื่อนคู่คิดต่างวัยที่ยอมรับและเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าคนรุ่นก่อนต้องเห็นด้วยหรือให้น้ำหนักกับทุกความเห็นเท่ากันหมด เพียงแต่ต้องไม่มองข้ามหรือด้อยค่าความคิดเห็นนั้น ๆ บนหลักเพียงเพราะว่า “เด็ก” เป็นคนพูด แม้บางครั้งผู้ใหญ่อาจรู้สึกว่าตนเองมีประสบการณ์ชีวิตมากกว่าและรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่ยังขาดวุฒิภาวะ อาจต้องพยายามเปิดใจฟังโดยคำนึงถึงหลัก Empathy ว่า โลกนั้นเปลี่ยนไปมากและประสบการณ์ที่เรามีอาจใช้ไม่ได้กับยุคนี้เสมอไป แต่ประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่อาจตรงกับบริบทของยุคปัจจุบันมากกว่า

2.2 มุมมองเรื่องบทบาทและหน้าที่ของรัฐ คนต่างรุ่นมองความสัมพันธ์ระหว่าง “รัฐกับประชาชน” แตกต่างกัน คนรุ่นก่อนมองตัวเองมีความเป็นพลเมือง (citizen) มีหน้าที่ แต่คนรุ่นใหม่จะมองความสัมพันธ์ เป็นเสมือน ”ผู้ประกอบการกับลูกค้า” มากกว่าคนรุ่นก่อน ในสายตาของคนรุ่นใหม่ภาครัฐคือคนที่ประชาชนเลือกเข้าไปทำงานแทนตนคือคนที่ประชาชนจ่ายภาษีจ้างเพื่อให้บริการ(government services) กับทุกคน เสมือนเราเป็น “ลูกค้าในร้านอาหาร” ที่ร้านอาหารต้องคอยบริการ ซึ่งแตกต่างจากมุมมองที่ว่าประชาชนเป็นพลเมืองที่ต้องมีหน้าที่ “เพื่อชาติ” ถึงจะได้รับสิทธิต่างๆ หรือการต้องตระหนักถึงบุญคุณของภาครัฐในการช่วยเหลือตนและครอบครัว ดังนั้นในสายตาของคนรุ่นใหม่จำนวนมากการบ่น ตำหนิ ต่อว่ารัฐบาลจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงและการ “เอาแต่บ่น” ไม่ทำอะไรก็ไม่ใช่เรื่องผิด เสมือนเราไม่พอใจร้านอาหาร เราสามารถบ่นได้ เขียนตำหนิลงโซเชียลมีเดียได้ ขอคุยกับผู้จัดการได้ โดยไม่จำเป็นต้องลุกไปทำอาหารเอง การทำเช่นนี้ไม่ได้แปลว่าเกลียดชังร้านอาหารนี้ และการบ่นอาจเป็นการทำประโยชน์ให้สังคม เพราะทำให้ร้านอาหารนั้นปรับปรุงบริการและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคคนอื่น ในทางกลับกัน การอดทนเก็บเงียบและยอมให้ความไม่ถูกต้องดำเนินไปต่างหากคือความเห็นแก่ตัวในสายตาของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่จึงไม่ได้มีมุมมองที่ตนเองเป็นผู้น้อยและรัฐเป็นผู้ใหญ่ แต่มีความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันและมุมมองต่อความเท่าเทียมนี้มีผลต่อวิธีการแสดงออกและสื่อสารของคนรุ่นใหม่เช่นกัน

เปิดใจกับการแสดงออกและวิธีสื่อสาร อีกหัวใจสำคัญต่อการสื่อสารของคนต่างรุ่น คือ ต้องเข้าใจว่ารูปแบบวิธีการสื่อสารและแสดงออกของคนต่างรุ่นมีความแตกต่างกัน คนรุ่นใหม่มีวิธีการสื่อสารที่คนรุ่นก่อนไม่คุ้นเคย บางครั้งอาจดูตรงเกินไป หักหน้า หักหาญน้ำใจ บางครั้งดูหยาบคาย ซึ่งความรู้สึกไม่ชอบวิธีการสื่อสารของคนรุ่นใหม่ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ความเข้าใจเหตุผลว่า “ทำไม” เขาถึงทำเช่นนั้นอาจช่วยในการคุยกันได้ดีขึ้น

3.1 เสียงเบาไม่มีใครได้ยิน คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยโตขึ้นมากับประสบการณ์ที่ว่า พูดเสียงเบา ๆ ในระบบไม่มีใครได้ยิน หรือกลับเจอผลกระทบทางลบต่อตัวเอง แต่การส่งเสียงดังในโซเชียลมีเดียแล้วผู้ใหญ่ได้ยินและอาจจะขยับตัว ยิ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มีทุนทางสังคม การส่งเสียงดังในสังคมอาจเป็นวิธีเดียวที่ทำให้เสียงของเขาได้รับการฟัง จึงเกิดปรากฏการณ์การโพสต์ลงโซเชียลมีเดียให้เกิดกระแสหรือมีการแชร์ต่อกันเป็นจำนวนมาก (viral) ซึ่งต้องยอมรับว่าโพสต์ที่มักเป็นกระแส คือโพสต์ที่เป็นการด่าทอหรือใช้ถ้อยคำรุนแรงมากกว่าการให้เหตุผลกลางๆ แบบไม่เจือปนอารมณ์ จึงเกิดมาตรฐานว่า หากอยากอยู่รอดต้องสื่อสารให้ผู้ใหญ่ได้ยิน  ในเมื่อการสื่อสารทางตรงแล้วไม่ได้ยินหรือไม่ถูกรับฟัง การจะสื่อสารให้ได้ยินจึงต้องเป็นการแสดงออกค่อนข้างรุนแรง อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมการสื่อสารเช่นนี้อาจไม่ใช่วิธีการที่มีประสิทธิภาพในระยะยาว อีกทั้งยังมีแง่มุมที่คล้ายกับการข่มเหงรังแก (bully) ซึ่งคนรุ่นใหม่เองก็ไม่ได้ชอบการข่มเหงรังแกหรือการถูกกดทับ คนรุ่นก่อนจึงต้องอธิบายให้คนรุ่นใหม่เข้าใจถึงปัญหาของวัฒนธรรมการสื่อสารเช่นนี้ ในขณะเดียวกันคนรุ่นก่อนต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัยในระบบให้คนรุ่นใหม่สามารถพูดแล้วเสียงของเขาได้รับการฟัง

3.2 พูดตรง เปิดเผย โปร่งใส นอกจากนี้คนรุ่นใหม่มักให้ความสำคัญกับ “ความโปร่งใส” มากกว่าการ “รักษาหน้า” ในขณะคนรุ่นก่อนอาจเคยชินกับมารยาทของการรักษาหน้า เช่น หากผู้ใหญ่ในที่ประชุมพูดผิดหรือมีคนที่มีความเห็นแตกต่างกัน ควรไปคุยกันภายหลังมากกว่ามาถกเถียงกันต่อหน้าคนอื่น แต่คนรุ่นใหม่หลายคนมองว่า การพูดตรงอย่างเปิดเผยดีกว่า เพราะทำให้แก้ไขปัญหาได้เร็ว เปิดโอกาสให้คนอื่น ๆ แสดงความเห็นได้ ในขณะที่การไปคุยกันลับหลังเป็นส่วนตัวอาจถูกมองว่าไม่มีประสิทธิภาพแล้วยังขาดความโปร่งใสและทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม  คนรุ่นใหม่เองอาจต้องพยายามเข้าใจลักษณะการแสดงออกหรือการสื่อสารแบบ “หลังบ้าน” เช่นนี้ของผู้ใหญ่ไม่เหมารวมว่าเป็นความพยายามจะปกปิดไม่จริงใจ แต่เป็นวัฒนธรรมอีกแบบที่อาจมีประสิทธิภาพในบางบริบท หากคนรุ่นใหม่ต้องการจะชักชวนให้คนรุ่นก่อนหันมาสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย  ก็อาจจะต้องทำให้เห็นว่าความตรงไปตรงมานี้เป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ได้เพื่อ “เล่นงาน” หรือ “หักหน้า” และอาจสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เขาเกิดความสบายใจที่จะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนการสื่อสาร

3.3 ถ้อยคำแสดงความเท่าเทียม คนรุ่นใหม่ชอบใช้ภาษาที่ผู้ใหญ่อาจมองว่าไม่สุภาพและไม่เคารพนอบน้อม แต่ส่วนหนึ่งที่พวกเขาเลือกสื่อสารในรูปแบบนี้ไม่ใช่เพราะว่าตั้งใจจะลบหลู่ หรือต้องการแสดงความไม่เคารพต่อผู้ใหญ่ แต่สะท้อนความเชื่อที่ว่าการสื่อสารบางรูปแบบนั้นตอกย้ำระบบลำดับอาวุโสและความไม่มีสิทธิมีเสียงของผู้น้อย ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าวิธีการสื่อสารนั้นถูกต้องเหมาะสม เพียงแต่อาจต้องเข้าใจว่าการแสดงออกที่ดูไม่สุภาพนั้นไม่ได้มาจากเจตนาไม่ดีหรือความไม่เคารพเสมอไป เพียงแต่สะท้อนระบบความคิดที่เปลี่ยนไป  ​​ในทางกลับกัน คนรุ่นใหม่ก็ควรต้องเข้าใจว่าคำพูดที่มีลักษณะสั่งสอนของผู้ใหญ่นั้นไม่ได้พูดจากความรู้สึกที่ต้องการดูถูกหรือกดทับคนอายุน้อยกว่าเสมอไป เพียงแต่เป็นความเคยชินที่มาจากระบบความคิดดั้งเดิมและอาจมีความปรารถนาดีอยู่ในนั้น

คนรุ่นก่อนกับคนรุ่นใหม่มีมุมมองในเรื่องหน่วยของการวิเคราะห์แตกต่างกัน คนรุ่นก่อนมักมองที่ตัวบุคคล ดังคำพูดที่เราคุ้นชิน คือ เราทำหน้าที่ของเราให้ดีก็พอแล้ว ต้องมีความอดทน หรือ ถ้าเราได้ผู้นำเป็นคนดีไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ระบบต่าง ๆ ก็จะดีตามมา ส่วนคนรุ่นก่อนที่เข้าใจว่าปัญหาใหญ่อยู่ที่ระบบก็มักจะมองว่าระบบนั้นซับซ้อนและไม่เชื่อว่าจะลงมือแก้ระบบได้ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ไม่ได้มีมุมมองที่ให้ความสำคัญกับบุคคลเช่นนั้น คนรุ่นใหม่เชื่อว่าปัญหาอยู่ที่ระบบ เหมือนดินไม่ดี ปลูกต้นอะไรก็ไม่ขึ้น เมื่อปัญหาอยู่ที่ระบบจึงต้องเปลี่ยนแปลงที่ระบบ และยังมีความหวังต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นอีกด้วย (แม้คนรุ่นก่อนก็อาจจะมองว่าความหวังเช่นนี้มีได้เพราะยังไม่เคยประสบความล้มเหลวในการพยายามเปลี่ยนแปลงระบบมาก่อน) การสื่อสารกันระหว่างคนต่างรุ่นอาจจะต้องถอยออกมาจากระดับบุคคล หากสื่อสารกันถึงปัญหาในเชิงโครงสร้าง เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คอร์รัปชัน หรือความไม่ยุติธรรม อาจพบจุดร่วมเดียวกันของคนต่างวัยก็เป็นได้

4.1 ไม่ใช่ไม่สู้ แต่ระบบกีดกัน ในขณะที่คนรุ่นก่อนอาจมองว่าคนรุ่นใหม่มักพร่ำบ่นเกี่ยวกับระบบและสภาพแวดล้อมแทนที่จะพยายามพัฒนาตนเอง คนรุ่นใหม่มักจะมองว่าในระบบที่ปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีทุนทางสังคมพยายามแค่ไหนก็เติบโตดีได้ยาก แน่นอนว่าบางคนอาจใจสู้ไม่พอเพราะไม่ว่าจะยุคสมัยใดทุกคนก็ต้องกัดฟันต่อสู้ถึงประสบความสำเร็จ แต่หากย้อนกลับไปดูสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในช่วงชีวิตของคนรุ่นใหม่ก็จะเห็นว่า คนรุ่นใหม่ที่ขาดทุนทางสังคมในยุคปัจจุบันนั้นเผชิญความท้าทายที่ใหญ่หลวงมาก

4.2 คนดีเป็นผู้นำไม่พอ ต้องแก้ที่ระบบ คนรุ่นใหม่มักไม่ยึดที่ตัวบุคคลเท่าคนรุ่นก่อน คนรุ่นใหม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ระบบ คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ได้สนับสนุนคนใดคนหนึ่งหรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่สนับสนุนคนที่มีอุดมการณ์การเปลี่ยนแปลงแบบเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน  เพราะฉะนั้นการโจมตีตัวบุคคลเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของนักการเมืองหรือ influencer ที่พวกเขาดูชื่นชมอาจไม่ได้ผลในทำนองเดียวกับพวกเขามักไม่เชื่อว่าแค่ให้ “คนดี” เป็นผู้นำแล้วจะแก้ไขปัญหาได้ แต่ต้องแก้ที่ระบบให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น มีการคานอำนาจ (check and balance) เปิดโอกาสให้คนตัวเล็กมีสิทธิมีเสียง ลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสและความไม่ยุติธรรม ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่แค่ในระดับประเทศ แต่ทั้งระบบนิเวศน์ที่รวมในโรงเรียนและในองค์กรต่าง ๆ ด้วย

เปิดใจกับการแสดงออกและวิธีสื่อสาร อีกหัวใจสำคัญต่อการสื่อสารของคนต่างรุ่น คือ ต้องเข้าใจว่ารูปแบบวิธีการสื่อสารและแสดงออกของคนต่างรุ่นมีความแตกต่างกัน คนรุ่นใหม่มีวิธีการสื่อสารที่คนรุ่นก่อนไม่คุ้นเคย บางครั้งอาจดูตรงเกินไป หักหน้า หักหาญน้ำใจ บางครั้งดูหยาบคาย ซึ่งความรู้สึกไม่ชอบวิธีการสื่อสารของคนรุ่นใหม่ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ความเข้าใจเหตุผลว่า “ทำไม” เขาถึงทำเช่นนั้นอาจช่วยในการคุยกันได้ดีขึ้น

การสื่อสารโดยยึดหลัก 4E เป็นส่วนหนึ่งของการค้นหาทางออกเพื่อลดความขัดแย้ง ให้คนเห็นต่างได้มองเห็นมุมมองความคิดของอีกฝ่ายหนึ่งผ่านบริบทหรือประสบการณ์ชีวิตของฝ่ายนั้น การ “เข้าใจ” ว่า  เหตุใด คนที่เห็นต่างจากเราจึงมีความคิดความเชื่อเช่นนั้น ย่อมนำมาซึ่งการเข้าอกเข้าใจและยอมรับฟังกันมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีความเห็นเหมือนกัน แต่เมื่อเกิดการรับฟังกันอย่างแท้จริงแล้ว บางครั้งคนที่คิดว่าเราเห็นต่างกันนั้น อาจค้นพบว่าในความต่าง เรายังมีความเหมือนหรือความต้องการที่แท้จริงบางอย่างที่เหมือนกัน ซึ่งสามารถนำไปสู่การถกเถียงหรือพูดคุยบนพื้นฐานของความต้องการที่แท้จริงของแต่ละฝ่ายได้

เรียบเรียงโดย สมาชิกกลุ่ม J RoLD 2020

ดาวน์โหลดคู่มือ 4E : วิธีสื่อสารข้ามรุ่น


สติกเกอร์ “ปลาวาฬไม่ใช่ปลา”

เป็นส่วนหนึ่งในโปรเจกต์ “Let’s Get Together” ของกลุ่ม J (RoLD 2020) ถึงวาฬจะไม่ใช่ปลา แต่ก็อยู่ร่วมกับปลาในทะเลได้อย่างเป็นมิตร แถมยังสะท้อนถึงการไม่เหมารวมว่าทุกคน (ปลา) ต้องเหมือนกัน (รายได้ทั้งหมดนำไปบริจาคเพื่อการกุศล)

คลิกเพื่อดาวน์โหลดสติกเกอร์


Related News

https://www.facebook.com/1683658098593742/posts/2846130669013140/?sfnsn=mo
https://thestandard.co/4e-guide-how-to-communicate-across-generations/
http://entertain.enjoyjam.net/forum/index.php/topic,101442.0.html
https://www.todayupdatenews.com/2021/09/rold2020-resilient-leader-tij-lets-get.html
http://www.changeintomag.com/index.php/today/27932-2016-04-29-13-34-13081984439533603
http://www.thaipublicmedia.com/2021/09/RoLD2020-Network-The-Resilient-Leader-of-TIJ-launches-LETS-GET-TOGETHER-project-Think-different-its-okay.html
http://kosanathai.starttosite.com/posts/939
https://mgronline.com/celebonline/detail/9640000089487
https://siamrath.co.th/n/279471
https://bit.ly/2VyVCii
https://www.facebook.com/919734941470044/posts/4197932540316918/
http://www.onedeedee.com/talk-about/55576/
https://paikubpro.com/pronews/tij-lets-get-together/

Live Session
https://fb.watch/89wT-pL2g8/
https://www.youtube.com/watch?v=sQtLjm8ng38