30 มิ.ย. 2566

RoLD Environmental Justice Forum EP.1 หัวข้อ “Transboundary Haze Pollution and Alternative Development Approach”

“การพัฒนาทางเลือก” ข้อเสนอแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เริ่มด้วยการมอง “คน” เป็นศูนย์กลาง

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยได้กลายเป็นภัยพิบัติใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงฤดูหนาวของทุกๆปีมาอย่างยาวนานต่อเนื่อง จนเป็นภัยพิบัติตามฤดูกาลไปแล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายน 2566 มีภาพที่ปรากฏชัดเจนว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือของไทยส่งผลกระทบรุนแรงและยาวนานมากขึ้น จนประชาชนในบางพื้นที่ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้ เช่น ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย  

“การเผา” ถูกชี้ให้เป็นตัวการสำคัญมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพราะฝุ่นควันที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการพบจุด HOT SPOT จำนวนมากที่เกิดจากการเผาไหม้ในพื้นที่ทั้งในภาคเหนือของประเทศไทย และในประเทศเพื่อนบ้าน และนั่นทำให้ “ประชาชนในพื้นที่” ที่มีอาชีพเกษตรกรรม ถูกมองว่าต้นตอของการเกิดฝุ่นควันจากการเผาไร่นาเพื่อปรับพื้นที่ทำการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว อย่าง ข้าวโพด อ้อย

การเผาไร่ของเกษตรกร เป็นต้นเหตุของปัญหาจริงหรือไม่ ?? การแก้ปัญหานี้คือการสั่งให้หยุดการเผาใช่หรือไม่ ?? …  เป็นคำถามสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยผ่านเครือข่ายผู้เข้าอบรมหลักสูตร “หลักนิติธรรมและการพัฒนา หรือ RoLD (Rule of Law and Development) ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ซึ่งได้เชิญหลายภาคส่วนที่สนใจปัญหานี้มาพูดคุยกันในหัวข้อ “Transboundary Haze Pollution and Alternative Development Approach” เพื่อหาทางออกจากปัญหานี้อย่างยั่งยืน โดยมี “การพัฒนาทางเลือก” เป็นแนวทางที่ถูกหยิบยกมาหารือ

กลับสู่ด้านบน

UNODC แนะอาเซียน ควรวางแผนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อจำกัดการเผาไหม้ในภูมิภาค

“นี่ไม่ใช่ปัญหาใหม่ การเผาในที่โล่ง (Open Burning) เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน เพราะมันเป็นวิธีการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรที่ง่ายและราคาถูกที่สุด และเมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้น มีความต้องการผลผลิตมากขึ้น การเผาก็ยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ปัญหาหมอกควันก็ตามมา นี่จึงถือเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขโดยอาศัยความร่วมมือในระดับภูมิภาค โดยภาครัฐต้องสร้างการพัฒนาทางเลือกใหม่ๆให้กับเกษตรกร”

Mr. Julien Garsany, Deputy Regional Representative for Southeast Asia and the Pacific จาก United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) ยืนยันว่า ปัญหาการเผาในที่โล่ง ซึ่งทำให้เกิดฝุ่นควัน PM 2.5 เป็นปัญหาที่สำคัญในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมลพิษทางอากาศนี้ จะทำให้ผู้ได้รับผลกระทบมีอายุขัยลดลงได้ถึง 2 – 4 ปี จึงเห็นว่า รัฐบาลในภูมิภาคนี้ต้องเร่งแก้ไขปัญหาด้วยการเสนอทางเลือกใหม่ๆในการประกดอบอาชีพให้กับเกษตรกร เพื่อลดการเผาลงให้ได้ เช่น รัฐต้องทบทวนเสนอมาตรการที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต ซึ่งคล้ายกับวิธีการแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยการสร้างอาชีพใหม่ๆที่มั่นคงมาทดแทนที่เคยทำมาแล้ว

“ในทั้งสองกรณี (การเผาในที่โล่งและปัญหายาเสพติด), เราต้องแก้ปัญหา ด้วยการช่วยหาทางเลือกอื่นๆที่สามารถทำกำไรหรือเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกับเกษตรกรได้ด้วย เพื่อให้ประชาชนมีแรงจูงใตในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม”

“หากดูเฉพาะในกรณีของการเผาในที่โล่ง อาจหมายถึงการหาวิธีการใหม่แทนการเผา ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจากการจัดการกับเศษวัสดุทางการเกษตรในทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การนำเศษวัสดุเหล่านั้นมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่า” ผู้แทนจาก UNODC แนะนำ

Mr. Garsany ยังยกตัวอย่างบางพื้นที่ที่หากเกิดการเผาขึ้นแล้วจะเข้าไปแก้ไขได้ยาก เช่น ภูเขาสูงในลาวและรัฐฉานของพม่า และยังยากต่อการนำอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีเข้าไปเป็นทางเลือกอื่นให้เกษตรกรแทนการเผาด้วย ดังนั้นในพื้นที่แบบนี้ ควรให้คำแนนะนำด้วยการให้เกษตรกรเปลี่ยนการเพาะปลูกเป็นพืชยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงและไม่ต้องใช้การเผาเหมือนพืชไร่เชิงเดี่ยว เช่น พื้นที่ปลูกกาแฟพรีเมียมของฝรั่งเศส

ผู้แทนจาก UNODC ยังได้เน้นอีกว่าส่วนใหญ่ของพืชที่ถูกเผานั้นถูกปลูกขึ้นเพื่อให้เป็นอาหารสัตว์ ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของมนุษย์ การแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำการเกษตร เพราะถึงแม้จะมีคำมั่นสัญญาจากภาครัฐในทุกๆปีว่าจะจริงจังต่อการจัดการกับปัญหานี้ แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างที่กล่าวไว้ โดยเฉพาะระหว่างปี 2552 -2554 ที่สถานการณ์ในพื้นที่ เช่น แม่โขง ทวีความรุนแรงมากขึ้น

“ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นและแก้ได้ด้วยเฉพาะวิธีทางกฎหมาย เนื่องจากการเผาไหม้หลายพื้นที่เกิดขึ้นนอกอาณาเขตของประเทศใดประเทศหนึ่ง เราจึงจำเป็นที่จะต้องมีการทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ปัญหานี้”

“ถึงแม้ว่า ASEAN มีแผนการทำงานที่ถูกตั้งขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว แต่ในที่สุดแล้วมันคือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน”

การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ผู้แทนจาก UNODC ให้คำแนะนำ โดยเห็นว่า ภาคเอกชนจะช่วยส่งเสริมยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาด้วยวิธี “การพัฒนาทางเลือก” ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะความสามารถในการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการและลดการเผา

“เกษตรกร รู้ดีว่าการเผานั้นไม่ดี แต่หากไม่มีทางเลือกใหม่ที่สร้างแรงจูงใจให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม พวกเขาก็จะไม่ทำ และเราจะเห็นได้ว่า การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการเข้ามาสร้างมาตรการจูงใจ ยังมีน้อยเกินไป”

กลับสู่ด้านบน

“ไฟส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่า ไม่ใช่พื้นที่การเกษตร” PM 2.5 จึงเป็นปัญหาที่สะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการ

“เราศึกษาเพื่อหาวิธีการจัดการกับฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่เพื่อทำให้การเผาไหม้กลายเป็นศูนย์ เมื่อเราศึกษาแล้ว เราพบว่า PM 2.5 เป็นปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการ ตั้งแต่การวางแผน การจัดทำงบประมาณ และการทำงานข้ามหน่วยงาน ตัวอย่างเช่น ไม่มีระบบการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐที่ดีพอ” 

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารงานภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่ร่วมทำการศึกษาหาสาเหตุของการเกิด PM 2.5 อย่างจริงจังมาหลายปี พยายามชี้ให้เห็นว่า หากมีระบบเปิดเผยข้อมูลภาครัฐที่ดี ก็จะพบสาเหตุที่ทำให้หน่วยงานรัฐสามารถบูรณาการกันร่วมมือแก้ปัญหานี้ได้

ดร.บัณฑูร ได้เปิดเผยผลการศึกษาจุดความร้อนในพื้นที่ภาคเหนือของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วงระหว่างปี 2562 – 2566 ซึ่งพบว่า 80-90% ของจุดความร้อนที่พบมีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ คือ ในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตป่าสงวนแห่งชาติ ไม่ใช่พื้นที่การเกษตร  และหากดูย้อนหลังไปอีก 10 ปีก่อนหน้านั้น คือตั้งแต่ปี 2553 – 2562 จะพบอีกว่า มีพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ซ้ำเดิมอยู่ประมาณ 9.7 ล้านไร่ ซึ่งเกิดจาก ไฟในป่า 65% นาข้าว 22% ไร่ข้าวโพด 6% และไร่อ้อย 2%

“เราใช้คำว่า ไฟในป่า ไม่ใช่ ไฟป่านะครับ เพราะไม่ใช่ไฟที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่มันไปเกิดอยู่ในพื้นที่ป่า และยังเป็นปริศนาว่ามันเกิดจากอะไร”

เมื่อไปดูข้อมูลการเกิด PM 2.5 ข้ามแดน ในช่วงระหว่างปี 2558 – 2563 พบข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า จุดความร้อนในประเมศเมียนมา เกิดจากทั้งไฟในป่าและการเผาไร่ข้าวโพดในอัตราที่ใกล้เคียงกัน แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดชายแดนไทยจะเกิดจากการเผาไร่ข้าวโพดมากกว่า ,ส่วนใน สปป.ลาว ในช่วงแรกมีอัตราการเกิดจุดความร้อนจากไฟในป่าและการเผาไร่ข้าวโพดใกล้เคียงกันเช่นกัน จนปี 2562 มีแนวโน้มเกิดจากการเผาไร่ข้าวโพดมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ตอนเหนือของ สปป.ลาว ซึ่งเมื่อนำข้อมูลนี้มาวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ จะเห็นว่า ฝุ่นมีแนวโน้มที่จะพัดข้ามแดนมาเสริมกับฝุ่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยสูงขึ้น แต่ยังระบุไม่ได้ว่า การเผาจากในประเทศไทยเองหรือการเผาจากประเทศเพื่อนบ้านมีผลมากกว่ากัน ดังนั้นจึงมีการจัดการประชุมร่วมในระดับเจ้าหน้าที่ระหว่างทั้ง 3 ประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2566 และได้ข้อสรุปร่วมกันว่า จะต้องทำแผนที่ประเมินความเสี่ยง ทำแพลตฟอร์มการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งสร้างเครือข่ายนักผจญเพลิงร่วมกันทั้ง 3 ประเทศ ส่วนของประเทศไทยเองก็กำลังอยู่ระหว่างการรวมทีมจากหลายหน่วยงานและสถาบันการศึกษาเพื่อศึกษาให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า ฝุ่นที่ลอยอยู่ในประเทศไทย มีปริมาณแค่ไหนที่เกิดขึ้นในไทยและมีแค่ไหนที่ลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับไฟที่เกิดขึ้นในภาคการเกษตร ดร.บัณฑูร อธิบายแนวทางการจัดการใหม่ โดยแยกเป็น 3 แนวทาง คือ เปลี่ยนระบบการเกษตร เปลี่ยนวิธีการจัดการเศษวัสดุจากการเกษตรซึ่งเป็นที่มาของการเผา และเปลี่ยนวิธีการจัดการไฟ เริ่มด้วยการจัดทำข้อมูลรายแปลง ระบุพิกัด ทำข้อมูลของเกษตรกร ทำระบบสร้างมาตรการเปลี่ยนระบบการเกษตรจากพืชเชิงเดี่ยวเป็นพืชยืนต้น ซึ่งต้องจัดทำระบบน้ำให้เกษตรกรใช้น้ำได้อย่างทั่วถึงด้วย และสามารถใช้นวัตกรรมทางเศรษฐศาสตร์มาสร้างแรงจูงใจด้วยการจัดหาตลาดรับซื้อพืชผล สร้างตลาดคาร์บอนเครดิต เปลี่ยนเศษวัสดุที่เคยเผาให้เป็นของที่มีมูลค่า รวมทั้งยังต้องสร้างระบบการตรวจสอบย้อนกลับในแปลงการเกษตรเชิงเดี่ยวที่มีสัญญาร่วมกับภาคเอกชนว่ามีการเผาที่จุดไหนอยู่บ้าง สามารถลดการเผาได้มากน้อยแค่ไหนในแต่ละปี

“อย่างที่บอกไปว่า 22% ของการเผา มาจากนาข้าว เราจึงไปค้นหาสาเหตุที่ชาวนาต้องเผา ก็พบว่า มันมีสิ่งที่เรียกว่า ข้าวละมาน ซึ่งเกิดจากปะปนกันของพันธุ์ข้าวจากการที่ชาวนาจ้างรถเกี่ยวข้าวมาจากต่างถิ่น และทำให้ขายได้ราคาต่ำลงมาก ชาวนาจึงต้องทำลายพันธุ์ข้าวที่ปะปนนี้ด้วยการเผา เมื่อเรารู้ต้นตอแบบนี้ ก็จะสามารถช่วยเขาหาวิธีแก้ไขปัญหาได้โดยไม่ต้องเผา”

ส่วนพื้นที่ที่มีจุดความร้อนเกิดมากที่สุดถึง 65 % คือ ไฟในป่าอนุรักษ์ ดร.บัณฑูร ย้ำว่า จนถึงขณะนี้ก็ยังเป็นคำถามใหญ่ว่า สาเหตุที่เกิดไฟในเขตป่าอนุรักษ์คืออะไรกันแน่ แต่ก็มีตัวอย่างที่น่าสนใจ ที่บ้านต้นต้อง จ.ลำปาง ซึ่งทำเป็น “ป่าชุมชน” มีกติกาที่ชุมชนสร้างร่วมกันเพื่อจัดการการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืน และทำให้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยเกิดไฟไหม้ในป่าชุมชนที่หมู่บ้านนี้เลย ดังนั้นการบริหารจัดการป่าชุมชนที่ประกาศไปแล้ว 400-500 แห่ง การกำหนดกติการ่วมกันระหว่างรัฐกับชุมชนในการใช้ประโยชน์ในเขตป่าอนุรักษ์ อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้ชุมชนมีความรู้สึกเป็นจ้าของทรัพยากร และกลายเป็นหูเป็นตาป้องกันการเกิดไฟป่าได้ดี

กลับสู่ด้านบน

ชวนตั้งคำถามต่อวิธีการหยุดไฟป่า “เมื่อชุมชนดั้งเดิมในป่า ไม่เหลือทางเลือก” แต่ป่าสมบูรณ์ทั่วโลกอยู่ในการดูแลของคนพื้นเมือง

“ผมอยากชวนฟังเสียงของคนที่เรามักไม่ค่อยได้ยิน เสียงเบาๆที่เป็นอาวุธของผู้อ่อนแอ … มีข้อมูลที่บ่งขี้ว่า ไฟป่า มักเกิดขึ้นในหลายประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากร อย่างพื้นที่ป่าในอดีตของประเทศไทย ก็เป็นพื้นที่ของสัมปทานป่าไม้ เรามองป่าเป็นสินค้ามาตลอด และผลักดันชุมชนที่เคยอยู่อาศัยดั้งเดิมให้เข้าสู่ความยากจน และพอเราเริ่มประกาศให้ป่าเป็นเขตอนุรักษ์ ก็ไปประกาศทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยของพวกเขาอีก เราจึงควรตั้งคำถามว่า หากจะใช้แนวทางการพัฒนาทางเลือก ก็ต้องตอบด้วยว่า เป็นทางเลือกของใคร”

ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา อธิบายเพิ่มเติมว่า นโยบายเช่นนี้ ทำให้มีชุมชนกว่า 4000 แห่ง ที่อยู่ในป่ามาตั้งแต่ดั้งเดิม ถูกผลักให้เผชิญกับความยากจน เพราะไม่สามารถอยู่อาศัยตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สอดคล้องกับระบบนิเวศได้ ดังนั้นเราจึงต้องให้เห็นมากกว่าเครื่องมือทางกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน เพราะที่ผ่านมาเรายังมีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างชุมชนดั้งเดิมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ยังแก้ไขไม่ได้ ซึ่งหมายความว่า เรายังไม่ได้มองถึง “ทางเลือก” ที่เหมาะสมกับชาวบ้านในพื้นที่จริงๆ

“ชุมชนที่อยู่อาศัยในป่าเหล่านี้ เขาเคยไม่ทน ไม่ยอมจำนนนะครับ เขารวมหลังกันปกป้องป่ามาตลอด ตั้งแต่การออกมาคัดค้านนโยบายสัมปทานป่าไม้ในอดีต และแม้แต่กฎหมายป่าชุมชน ก็เกิดขึ้นจากการที่กลุ่มชาวบ้านเหล่านี้ต้องต่อสู้ในอดีต และรวมตัวกันเป็นเครือข่ายป่าชุมชนครั้งแรกในปี 2531 สร้างกติกาการอยู่อาศัยในป่าอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับระบบนิเวศกันเอง แต่รัฐก็ยังถือเป็นการอยู่อย่างปิดกฎหมาย”

“ผมขอยกตัวอย่างรูปแบบการเกษตรที่เรียกว่า ไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นถูมิปัญญาทำการเกษตรของชาวกะเหรี่ยงและชาวลั๊วะ เขาทำกันมานานโดยไม่ต้องใช้ยาปราบศัตรูพืช หมุนเวียนเป็นรอบปล่อยให้แปลงที่ทำไปแล้วฟื้นฟูความสมบูรณ์ได้เอง แต่รัฐกลับไปให้คำนิยามว่า เป็นไร่เลื่อนลอย ทำให้ถูกเข้าใจในเชิงไม่ดีและต้องถูกกำจัดทิ้ง สุดท้ายพื้นที่เหล่านี้ก็เปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช ก็น่าคิดนะครับว่า ในขณะที่ชุมชนดั้งเดิมถูกควบคุมแต่อุตสาหกรรมปลูกพืชอาหารสัตว์กับเติบโตขึ้น”

เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ยังเปิดเผยข้อมูลจาก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งศึกษาพื้นที่ป่าที่มีคุณภาพสูงทั่วโลก และพบว่า 80% อยู่ในการดูแลของชุมชนพื้นเมือง ซึ่งหากมาเทียบกับบริบทของประเทศไทย ก็จะพบว่า พื้นที่ป่าสมบูรณ์ของไทยอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันตก ซึ่งเป็นที่อยู่ของกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆเช่นกัน

จากข้อมูลเหล่านี้ ดร.กฤษฏา จึงเสนอแนวทาง “การพัฒนาทางเลือก” ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ในภาคเหนือ โดยขอให้รัฐเปลี่ยนวิธีคิดในการจัดการป่าจากการใช้อำนาจทางกฎหมาย จากแนวคิดว่ารัฐต้องเข้าไปจัดการดูแลผู้อ่อนแอ เน้นการส่งเสริมกลไกตลาดเสรี เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้เป็นวิธีคิดใหม่ คือ ยอมรับความแตกต่างหลากหลายในการจัดการป่าผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมให้ชุมชนพื้นเมืองมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางดูแลและพัฒนาพื้นที่อย่างเสมอภาคกับชุมชนอื่น ส่งเสริมและกำกับการตลาดที่เป็นธรรมให้ชุมชนเข้มแข็ง และต้องพัฒนาเศรษฐกิจโดยยอมรับข้อจำกัดทางนิเวศด้วย

กลับสู่ด้านบน

“โครงการพัฒนาดอยตุง” ต้นแบบเปลี่ยนเขาหัวโล้นสู่ความยั่งยืน ทางเลือกสำคัญช่วยลดฝุ่นควันภาคเหนือ

“ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ดอยตุง เคยเป็นภูเขาหัวโล้น ป่าไม้ถูกทำลาย เป็นพื้นที่ของยาเสพติด ปลูกฝิ่น แต่เราไม่ได้แก้ปัญหานี้ด้วยการไล่จับกุมคนบุกรุกแผ้วทางป่า ไม่ได้ลงไปใช้กำลังเผาไร่ฝิ่น เพราะมันคงจะช่วยแก้ปัญหาได้แค่ระยะสั้นๆ แต่เรามองเห็นว่าปัญหาจริงๆมันอยู่ คน ซึ่งไม่มีทางเลือกในการดำรงชีวิต เราจึงใช้แนวทางการพัฒนาทางเลือกเข้าไปแก้ปัญหาตามพระราชปณิธานของ สมเด็จย่า”

ปถวี โชติกีรติเวช ผู้จัดการอาวุโส มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมถ์ อธิบายให้เห็นว่า แนวคิดของโครงการพัฒนาดอยตุงที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงใช้เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและยาเสพติด เป็นหนึ่งในแนวทางที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือได้เช่นกัน เพียงแค่อาศัยความเข้าใจปัญหา และต้องเข้าไปพัฒนาคนในพื้นที่ให้หลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งนั่นก็คือ การพัฒนาทางเลือก

“เจ็บ จน ไม่รู้” คือสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นกับ “คน” บนดอยตุงเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ผู้จัดการอาวุโส มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ อธิบายถึงช่วงแรกๆที่เข้าไปสัมผัสกับปัญหา โดยชี้ให้เห็นว่า ชุมชนที่อาศัยอยู่บนดอยตุงในอดีต ต้องเผชิญกับปัญหาความยากจน อยู่ห่างไกลกับการพัฒนา ไม่มีสัญชาติ ไม่มีสวัสดิการจากรัฐ เข้าไม่ถึงโอกาสทางศึกษา ไม่รู้เทคโนโลยีการเกษตรที่จะช่วยในการเพาะปลูก ทำให้พวกเขาขาดโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองไปด้วย ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงใช้กลยุทธ์ “ปลูกป่า ปลูกคน” เริ่มด้วยการสร้างความเชื่อใจ ชวนชาวบ้านมาร่วมปลูกป่า ทำให้มีรายได้จากการปลูกป่า นำพืชที่สร้างรายได้อย่างกาแฟ หรือ แมคคาเดเมียมาให้ปลูก รวมทั้งสร้างอาชีพทางเลือกอื่นๆให้พวกเขาทำด้วย เพื่อจะไม่ต้องกลับทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอีก 

“หลังจากชวนเขาปลูกป่าแล้ว เราก็ปลูกคนด้วย ด้วยการเชิญชวนให้ชุมชนร่วมกันสร้างกฎระเบียในการอยู่อาศัยกับป่าของพวกเขาขึ้นมาเอง ทั้งเรื่องการปกป้องป่า ลดการเผา ปกป้องลูกหลานจากยาเสพติด ซึ่งทำให้ชุมชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่นั้น และจะต้องปกป้องดูแลรักษาพื้นที่ที่เขาเป็นเจ้าของไว้อย่างดี”

“ที่ดอยตุง ชุมชนแต่ละชุมชนจะมาคุยกันเลยว่า พื้นที่ไหนมีการเผา ใครทำ จะหยุดยั้งได้อย่างไร มีตรงไหนที่คนในชุมชนยังไม่เข้าใจและไม่ทำตามกฎระเบียบที่วางไว้ร่วมกันก็ต้องมาทำความเข้าใจว่ามันจะส่งผลกระทบอย่างไร ซึ่งกฎระเบียบเหล่านี้ รวมไปถึงการดูแลรักษาดิน น้ำ อากาศและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพด้วย ไม่ใช่แค่ป่าอย่างเดียว ทั้งหมดนี้มาจากวิธีคิดว่า คนสามารถอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนได้”

นอกจากการพัฒนาทางเลือกด้วยการปลูกป่าซึ่งเป็นพืชทางเศรษฐกิจและการสร้างกฎระเบียบชุมชนแล้ว ปถวี ยังยกตัวอย่างโครงการใหม่ที่ชื่อว่า “ร้อยใจรักษ์” ที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังมีปัญหาเป็นเส้นทางลำเลียงของขบวนการค้ายาเสพติด โดยใช้แนวคิดเดียวกับที่ดอยตุง คือ เข้าไปค้นหาสาเหตุของปัญหาและใช้การพัฒนาทางเลือกเข้าไปแก้ไข พร้อมยกตัวอย่างคือ การสร้างโครงการบำบัดผู้ติดยาเสพติด สร้างการศึกษา สร้างอาชีพ สร้างรายได้เพื่อนำเขากลับสู่สังคม และยังเข้าไปแก้ปัญหา “การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร” ด้วยการชวนชุมชนมาสร้างกฎระเบียบร่วมกัน ตั้งแต่การกำหนดที่ทำกินให้ชัดเจน ช่วยเพิ่มผลผลิตในพื้นที่ที่มีอยู่จำกัด ให้รถอัดฟางมาทำฟางไปขายกับกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์แทนการเผา หรือแม้แต่การใช้ฟางมาเพาะเห็นแทนการเผา ทำกองทุนป้องกันไฟป่า และให้รางวัลกับชุมชนที่ทำได้ดี

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง มองเห็นโอกาสจากการเกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ในปี 2564-66 จึงขยายพื้นที่ออกไปยัง “ป่าชุมชน” ด้วยการชวนชุมชน 120 ชุมชนใน 10 จังหวัด ประมาณ 1.47 แสนไร่ ที่ขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนอยู่แล้ว มีกติกาดูแลป่าอยู่แล้ว มาเข้าร่วมโครงการ “คาร์บอนเครดิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยได้ลงไปร่วมทำโครงการปลูกป่า ตั้งกองทุนดูแลป่า ลดไฟป่า

“จริงๆแล้ว ความสำเร็จของดอยตุงต้องใช้เวลานานมาก มันคือการปลูกคน ไม่ใช่แค่เอาต้นไม้ไปลงดินให้มันโตเอง ต้องทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน เราจึงต้องทำให้สังคมไทยเห็นจุดนี้ร่วมกัน คือ เราต้องทำให้จุดเชื่อมประสานต่างๆเข้มแข็งโดยเข้าใจว่าการพัฒนาต้องมีคนเป็นศูนย์กลาง และขยายไปให้ครบทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม”

กลับสู่ด้านบน

ตลาดหลักทรัพย์ ร่วมผลักดันธุรกิจเอกชนให้มี ESG เป็นแนวทางหลัก พร้อมช่วยขับเคลื่อน “กิจการทางสังคม”

“ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม ทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ในมุมมองของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรามองว่า ภาคเอกชนเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศของการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย เราจึงพยายามส่งเสริมให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องมีแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลัก ESG ด้วย แต่ข้อนี้ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ยากที่สุด เพราะบริษัทใหญ่มักจะอุ้ยอ้าย ซับซ้อน เหมือนเราพยายามนำเรือไททานิกที่มใหญ่โตเลี้ยวหลบภูเขาน้ำแข็ง”

นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นความยากของความพยายามที่จะผลักดันให้ธุรกิจเอกชนสามารถดำเนินงานไปได้ โดยมี ESG เป็นบรรทัดฐานที่ต้องถือเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาธุรกิจไปด้วยเลย คือ ต้องให้ความสำคัญกับ สิ่งแวดล้อม (Environment)สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) แต่ก็เป็นเป้าหมายข้อแรกที่ต้องทำให้ได้ด้วยการให้คำแนะนำเพื่อบรรจุ ESG เข้ามาอยู่ในการพัฒนาธุรกิจได้จริงๆ นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายอื่นๆด้วย ตั้งแต่ การสร้างแนวคิดการลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างวัฒนธรรมใหม่เรื่องการลงทุนให้เห็นว่าในฝั่งผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมมาก สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่า การพัฒนาโครงสร้างให้มีช่องทางเปิดเผยข้อมูลว่าองค์กรนั้นๆทำอะไรบ้างในเรื่องของ ESG เพื่อให้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงทุน และเรื่องของการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องช่วยให้ภาคธุรกิจพัฒนาองค์ความรู้และสร้างบุคคลากร

ความพยายามที่จะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างธุรกิจภาคเอกชนกับกลุ่มผู้ประกอบการทางสังคม คือ แนวทางสำคัญที่นพเก้า แสดงให้เห็นว่า ทางตลาดหลักทรัพย์กำลังผลักดันอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ การทำให้ภาคธุรกิจเข้าไปเป็นพันธมิตรช่วยผู้ประกอบการทางสังคมให้มีความรู้ความสามารถที่จะยกระดับตัวเองได้ ก็จะไปช่วยแก้ปัญหาทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ โดยยกตัวอย่างหลายกิจการทางสังคมที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมาหลายกิจการ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

ระดับการสร้างการรับรู้ เช่น กิจการที่ทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการนำขยะมาผลิตใหม่ให้เป็นสินค้าแฟชั่น ,กิจการที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยประเมินคาร์บอนฟุตปริ้นท์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างถูกต้อง

ระดับที่เริ่มทำกิจการด้านสิ่งแวดล้อมด้วยตนเองด้วยการลดการเกิดของเสีย เช่น กิจการที่เข้าไปช่วยเหลือชุมชนและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน ช่วยสร้างโอกาสให้คนในชุมมีงานทำด้วยสร้างงานแยกขยะ นำไปรีไซเคิล ซ่อมบำรุง ขาย นำเงินมาเป็นกองทุนพัฒนาชุมชน และยังมีกิจการใน จ.เชียงใหม่ ที่นำเศษวัสดุทางเกษตรมาเปลี่ยนเป็นวัสดุตบแต่งในงานก่อสร้างที่มีมูลค่าสูงขึ้น ช่วยลดการเผาที่ทำให้เกิดฝุ่นควัน

ระดับการสร้างแหล่งเก็บกักคาร์บอน ซึ่งทำยากที่สุด เช่น กิจการที่ให้คำปรึกษาใน จ.เชียงใหม่ ทำงานด้านการดูแลป่า ฟื้นฟูป่า ปลูกป่า ,กิจการที่เข้าไปส่งเสริมชุมชนให้เปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องเผาไร่มาเป็นการปลูกผักออกานิคที่สามารถสร้างรายได้ได้มากกว่า และกิจการเปลี่ยนเขาหัวโล้นเป็นป่ากินได้ ซึ่งไปส่งเสริมให้เกิดการปลูกพืชสวน อย่างทุเรียน ในพื้นที่ที่เป็นป่าถูกทำลาย ที่ จ.เพชรบูรณ์และ จ.ศรีสะเกษ

ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยอมรับว่า นี่เป็นเพียงต้นแบบของการการผลักดันให้ผู้ประกอบการทางสังคมและผู้ประกอบการภาคธุรกิจได้เชื่อมต่อกันเพื่อให้เกิดกิจการที่สร้างผลในทางบวกกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ยังมีจุดที่ต้องทำงานเพิ่มอีกมากมาย ทั้งในเรื่องศักยภาพของผู้ประกอบการทางสังคม ประสบการณ์ การเพิ่มโอกาสในการเชื่อมต่อกับภาคธุรกิจ การพัฒนาต้นแบบเหล่านี้ การสร้างความเข้าใจกับสังคมในภาพใหญ่ รวมไปถึงยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อสิ่งใหม่ๆด้วย ซึ่งต้องช่วยกันพัฒนาต่อไป

“แม้จะยังมีข้อจำกัดอยู่มาก แต่หากเรามีภาพของสังคมที่มีความยั่งยืนเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหา เราก็จะพบว่า มีผู้ประกอบการทางสังคมเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีได้เช่นกัน”

กลับสู่ด้านบน

เอกสารประกอบการบรรยาย

Julian Garsany – Reducing Transboundary Haze Pollution in the Mekong Sub-Region: Open Agricultural Burning

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ – การขับเคลื่อนอากาศสะอาด

ดร.กฤษฎา บุญชัย – “ทางเลือก” กับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนายั่งยืน

ปถวี โชติกีรติเวช – “ดอยตุง” การพัฒนาทางเลือก

นพเก้า สุจริตกุล – Alternative Development: Economic Drive Impact

กลับสู่ด้านบน

กลับสู่ด้านบน